Tag Archives: โค้ช

News Release: บี วินนิ่ง ร่วมชิงแชร์ตลาดโค้ชชิ่ง (ข่าวจากเวปไซด์ Thai PR.Net)

บี วินนิ่งฯ ร่วมชิงแชร์ตลาดโค้ชชิ่ง ชูจุดเด่นด้านความน่าเชื่อถือ การันตีโดยสหพันธ์โค้ชนานาชาติ มุ่งสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร

บี วินนิ่ง เทรนด์ แอนด์ โค้ช ชูประสบการณ์ด้านการพัฒนาผู้นำ ร่วมชิงแชร์ตลาดโค้ชชิ่ง (Coaching) ด้วยผลงานโดดเด่นด้านการโค้ชผู้บริหารและพนักงานดาวเด่นที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากลูกค้า ทั้งในรูปแบบการโค้ชตัวต่อตัว (One-on-One Coaching) และการโค้ชกลุ่ม (Group Coaching) ผ่านการการันตีคุณภาพจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) และ NeuroLeadership Group

ศิริรัตน์ ศิริวรรณ หรือ โค้ชบี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี วินนิ่ง เทรน แอนด์ โค้ช จำกัด โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (Associate Certified Coach) ผู้เขียนหนังสือ ‘การโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยม’ และ‘ทักษะการโค้ชเชิงรุกสำหรับผู้นำ’ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้การโค้ช เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรในระดับต่างๆมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่เน้นการโค้ชผู้บริหารระดับสูง (Executive Coaching) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การโค้ชได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรที่สร้างผลกระทบอย่างทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร สำหรับบี  วินนิ่ง เรามีประสบการณ์ในการพัฒนาผู้นำโดยการนำการโค้ช มาใช้เป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ผ่านการฝึกอบรมแนวโค้ชกลุ่ม (Group Coaching Training) การโค้ชตัวต่อตัว และการโค้ชกลุ่ม ซึ่งผลงานของเราได้รับการยอมรับอย่างสูงจากองค์กรลูกค้าและผู้รับการโค้ช

“ ทิศทางของบริษัท บี วินนิ่งฯ นับจากนี้ เราไม่ได้มุ่งเน้นการเป็นผู้ให้บริการเพื่อฝึกอบรมหรือโค้ชผู้บริหารเป็นกรณีๆเท่านั้น แต่เรามุ่งให้คำปรึกษาและให้บริการแก่ลูกค้าเพื่อสร้างวัฒนธรรมการโค้ชให้เกิดขึ้นภายในองค์กรควบคู่กันไป เพื่อให้องค์กรสามารถนำการโค้ชมาใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ ครอบคลุม และสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม โดยเราได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรของเราซึ่งมีความชำนาญด้านการพัฒนาองค์กรและการโค้ช เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ และตอบสนองต่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของลูกค้าโดยแท้จริง ” ศิริรัตน์ กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำและการโค้ช ศิริรัตน์ ศิริวรรณ ได้ผ่านการฝึกอบรมผู้บริหารให้เป็นโค้ชมาแล้วมากกว่า 3,000 คน และยังเป็นโค้ชผู้บริหารและพนักงานดาวเด่นให้องค์กรหลายแห่ง ศิริรัตน์ ศิริวรรณ หรือ โค้ชบี ยังได้นำประสบการณ์ด้านการฝึกอบรมและการโค้ชมาถ่ายทอดผ่านงานเขียนหนังสือ อาทิ หนังสือการโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยม ทักษะการโค้ชเชิงรุกสำหรับผู้นำ (E-Book) พรีเซนต์อย่างโปร และปลดล็อกชีวิต อีกทั้งเป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการโค้ชให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านบทความต่างๆ

Bee at Siam Paragon2-2Bee at Siam Paragon1-1

โค้ชกลุ่ม (Group Coaching) อย่างไร ให้ได้ใจทั้งทีม โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ชกลุ่ม (Group Coaching) เป็นประสบการณ์ที่สุดแสนท้าทายสำหรับโค้ชหลายท่าน เพราะธรรมชาติของการโค้ชเปรียบเสมือนการเต้นรำระหว่างโค้ชกับโค้ชชี่ โดยโค้ชเต้นตามจังหวะของโค้ชชี่ ผ่านการสนทนา วิธีการสื่อสารพูดจาที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของโค้ชชื่ บรรยากาศ และสถานการณ์ในการโค้ช ทั้งนี้ โค้ชจะใช้กระบวนการเป็นตัวควบคุมการสนทนาโดยมีจุดประสงค์ ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้โค้ชชี่เกิดการตระหนักรู้จากภายในตนเอง (Create Self-Awareness) และเข้าใจความจริงในปัจจุบัน (Understand Current Reality) ทั้งในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง และสิ่งที่โค้ชชี่ปรุงแต่งขึ้นในรูปแบบของความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา
  • ช่วยให้โค้ชชี่เล็งเห็นภาพเป้าหมายที่ตนต้องการบรรลุ (Define Picture of Goal)
  • ช่วยให้โค้ชชี่สามารถคิดค้นทางเลือกต่างๆและพัฒนาแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรม (Develop Action Plan)

การเต้นรำกับโค้ชชี่เพียงคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว โค้ชต้องแม่นยำในกระบวนการ มีสติอย่างสมบูรณ์ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับตนเอง จึงจะสามารถปรับตนยืดหยุ่นและสนทนาได้อย่างลื่นไหลในการโค้ช การเต้นรำกับโค้ชชี่หลายท่านยิ่งท้าทาย เพราะพื้นฐานและความคาดหวังของโค้ชชี่ต่อการโค้ชมีความแตกต่างกัน แม้ว่าการโค้ชจะอยู่ภายใต้หัวข้อหรือประเด็นเดียวกันก็ตาม

ในการโค้ชกลุ่ม จุดมุ่งเน้นที่สำคัญที่สุดคือการทำให้โค้ชชี่ทุกคนเดินทางมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันด้วยความเต็มใจและร่วมแรงร่วมใจ ภายใต้บรรยากาศของความหวัง มีแรงบันดาลใจ และมุ่งมั่น แนวทางปฏิบัติที่ผู้เขียนใช้ในการโค้ชกลุ่มและประสบความสำเร็จมีดังต่อไปนี้

  • ชี้แจงให้โค้ชชี่ทราบว่าองค์กรส่วนใหญ่จะลงทุนเรื่องการโค้ชกับบุคลากรที่เป็นความหวัง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขององค์กร และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้รับการโค้ชเป็นบุคคลที่องค์กรเชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาได้
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ทุกคนจินตนาการถึงภาพเป้าหมายที่ตนต้องการบรรลุ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตพวกตนหากเป้าหมายนั้นกลายเป็นความจริง
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมสังเคราะห์ภาพที่จินตนาการออกมาเป็นเป้าหมาย 1-2 ข้อที่เห็นชอบร่วมกัน และเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับหัวข้อในการพัฒนา
  • ทำให้แน่ใจว่าเป้าหมายที่กำหนดขึ้นอยู่ภายใต้เกณฑ์ 4 ข้อ คือเป็นเป้าหมายที่สร้างแรงบันดาลใจ ท้าทาย เป็นจริงได้ และวัดผลได้
  • ทำให้แน่ใจว่าโค้ชชี่ทุกคนมีความรู้สึกตื่นเต้น พึงพอใจ และกระตือรือร้นอยากจะทำให้เป้าหมายบรรลุผล
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมกันวางกลยุทธ์หรือเส้นทาง (Road Map) ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น
  • กระตุ้นให้โค้ชชี่ร่วมกันกำหนดวิธีดำเนินการ (Action Plan) สำหรับกลยุทธ์แต่ละข้อ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
  • แต่งตั้งหัวหน้าทีมใหญ่และทีมย่อยเพื่อรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการเดินทางสู่ความสำเร็จของทีม โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิกในทีมให้มีโอกาสรับบทบาทหัวหน้าทีมเพื่อการเรียนรู้การเป็นผู้นำ
  • โค้ชต่อเนื่องเพื่อติดตามผลความคืบหน้าของทีม และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการนำวิธีดำเนินการไปปฏิบัติ
  • โค้ชหมั่นแสดงความชื่นชมความสำเร็จของทีม และให้กำลังใจทีมเป็นระยะ รวมถึงสะท้อนจุดแข็งของทีมให้ได้รับรู้ด้วย การชมและการสะท้อนจุดแข็งช่วยให้โค้ชชี่เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมความเคารพ และมั่นใจในตนเอง
  • นำการให้คำปรึกษาแนะนำ (Mentoring) มาใช้ผสมผสานกับการโค้ชด้วยคำถามตามความเหมาะสม

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การโค้ชกลุ่มประสบความสำเร็จคือ ความสามารถของโค้ชในการสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความฮึกเหิม ทำให้บุคคลเห็นคุณค่าในตนเอง โค้ชต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการโค้ชแต่ละครั้ง ขณะที่มีความสามารถในการปรับตนยืดหยุ่นในการสนทนา ไม่ยึดติดกับรูปแบบการโค้ชด้วยคำถามเพียงอย่างเดียว แต่สามารนำการให้คำปรึกษาแนะนำ (Mentoring) มาใช้อย่างเหมาะสมในจังหวะต่างๆ เพื่อทำให้การโค้ชดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นสูงสุดโดยแท้จริง

โค้ชชี่ร้องไห้ ทำไงดี? โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

ในระหว่างการสนทนาการโค้ช เป็นไปได้ที่ผู้รับการโค้ช (โค้ชชี่) อาจมีอารมณ์รุนแรงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและสถานการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ โค้ชชี่อาจร้องไห้ออกมา โค้ชที่มีเจตนารมณ์ที่ดีและจิตใจอ่อนไหว อาจมีอารมณ์ร่วม และรู้สึกเห็นอกเห็นใจโค้ชชี่ จึงช่วยปลอบประโลมโค้ชชี่ โดยหารู้ไม่ว่า การทำเช่นนั้น เป็นการกระตุ้นให้โค้ชชี่ยิ่งมีอารมณ์ในเรื่องนั้นๆมากขึ้น และจมลึกลงไปในเรื่องนั้น จนถอนตัวออกมาได้ยาก

โค้ชควรปฏิบัติตนอย่างไร เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ลักษณะนี้?

  • มีสติ นิ่ง วางจิตเป็นกลาง ไม่ต้องมีอารมณ์ร่วม เพราะหากโค้ชมีอารมณ์ร่วม สติย่อมไม่สมบูรณ์ จะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ และเป็นกระจกใสที่สะท้อนภาพความจริงให้โค้ชชี่เห็นได้ แต่กลับจะดึงโค้ชชี่ให้จมดิ่งลงไปในเรื่องราวนั้นยิ่งขึ้น
  • บอกโค้ชชี่ว่า ไม่เป็นไร หากโค้ชชี่ร้องไห้ ให้โค้ชส่งกระดาษทิชชู่ให้ แต่ไม่ต้องปลอบ หรือแตะต้องตัวโค้ชชี่ ให้นิ่ง สงบ รับฟัง สักพัก โค้ชชี่จะค่อยๆควบคุมสติได้
  • เมื่อโค้ชชี่เริ่มตั้งสติได้ โค้ชสามารถชมและสะท้อนจุดแข็งของโค้ชชี่จากสิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมา โดยกล่าวขออนุญาตแชร์สิ่งที่ตนเองสัมผัสรับรู้ได้เกี่ยวกับโค้ชชี่เช่น “ดิฉันสัมผัสได้ถึงความเป็นนักสู้ในตัวคุณ” “องค์กรของคุณโชคดีที่ได้คุณมาทำงานด้วย” “ดูเหมือน ท่ามกลางความท้าทาย คุณได้ชิมความสำเร็จระหว่างทางมาไม่น้อย” การชมและสะท้อนจุดแข็งในจังหวะนี้จะช่วยให้โค้ชชี่มองเห็นคุณค่าของตน เป็นการปลุกโค้ชชี่ให้ตื่น ช่วยให้เขามองสถานการณ์และตนเองในอีกแง่มุมหนึ่ง และตระหนักว่าสถานการณ์อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
  • โค้ชแสดงความเข้าอกเข้าใจ แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นอกเห็นใจ โค้ชพึงสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งในกระบวนการโค้ช แต่ต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้จิตใจของตนขาดความเป็นกลาง มีอคติ เอนเอียงไปเข้าข้างโค้ชชี่ พึงทำตนเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยให้โค้ชชี่ตระหนักรู้ความจริงด้วยมุมมองที่ปราศจากอคติ แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างประโยคคำพูดเพื่อแสดงความเข้าอกเข้าใจ เช่น “ดิฉันพอจะมองออกว่าคุณกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายไม่น้อยเลย” “ดิฉันเข้าใจดีค่ะว่าทำไมคุณถึงรู้สึกกดดัน เมื่อต้องถูกจับตามองจากทุกฝ่าย”
  • หลังจากโค้ชชี่เริ่มตั้งสติได้ และสงบลง ให้กล่าวสอบถามและขออนุญาตโค้ชชี่ว่า โค้ชชี่มีความประสงค์ที่จะรับการโค้ชต่อหรือไม่ หรืออยากพักก่อน หากโค้ชชี่ยินดีที่จะให้ดำเนินการโค้ชต่อ โค้ชควรสอบถามความรู้สึก และอารมณ์ ณ ปัจจุบันของโค้ชชี่ เช่น “ตอนนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง?” “ตอนนี้ มีอารมณ์อย่างไร ลองระบุเป็นคำ เช่น กลัว โกรธ กังวล?” การระบุอารมณ์ออกมาเป็นคำๆจะช่วยให้โค้ชชี่ตกผลึกอารมณ์ ตระหนักรู้ในอารมณ์ ความรู้สึกที่แท้จริงที่วิ่งวนอยู่ภายในตน เรียกว่าการ ‘ติดฉลากอารมณ์’ อารมณ์ที่ได้รับการติดฉลาก มักมีอิทธิพลลดลง สร้างการตระหนักรู้แก่โค้ชชี่ เมื่อโค้ชรับรู้อารมณ์ ณ ปัจจุบัน ย่อมสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
  • ระหว่างการสนทนาการโค้ช หมั่นชม สะท้อนจุดแข็ง ศักยภาพเป็นระยะ เพื่อทำให้โค้ชชี่รู้สึกเคารพ และมั่นใจในตนเองเพิ่มขึ้น

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโค้ชทุกท่าน การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นให้สามารถปลดล็อกตนเองออกจากปัญหาหรือสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ ผู้ให้ความช่วยเหลือต้องไม่ไปติดกับดักอารมณ์หรือดำดิ่งลงไปในสถานการณ์ร่วมกันกับเขา เปรียบเสมือน นักเดินทางสองคน คนหนึ่งตกลงไปในบ่อโคลน อีกคนต้องไม่ตกลงไปด้วย เพื่อหาทางช่วยอีกคนให้สามารถขึ้นมาจากบ่อโคลนนั้นได้

เรียนรู้ Coaching ผ่านทางมือถือ โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ชยังคงเป็นกระแสที่มาแรงอย่างสม่ำเสมอ ผู้เขียนในฐานะโค้ชและวิทยากรด้านการโค้ชจึงต้องแสวงหาและพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าอบรม เพราะลำพังการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องยอมรับว่า ต่อให้ผู้เข้าอบรมประทับใจและเล็งเห็นคุณค่าของเนื้อหาและทักษะที่ได้รับในการฝึกอบรมมากเพียงใด แต่การนำไปใช้อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัยนั้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์มีอุปนิสัย ความเป็นตัวต้นดั้งเดิมที่บ่มเพาะมาเป็นเวลายาวนาน การสร้างนิสัยใหม่ ผู้เข้าอบรมต้องให้ความใส่ใจ และมุ่งมั่นในการนำไปปฏิบัติอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ในการฝึกอบรม ผู้เขียนจึงแนะนำให้ลูกค้าทำ Group Coaching ให้แก่ผู้เข้าอบรม ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม Coaching โดยแบ่งผู้เข้าอบรมออกเป็นกลุ่มย่อย และโค้ชต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะนำทักษะไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิผล นอกจากนั้น ผู้เขียนยังมอบเครื่องมือคือ Coaching E-Book ซึ่งผู้เข้าอบรมสามารถทบทวนเนื้อหาการโค้ชที่ได้เรียนรู้ไปผ่านทางมือถือ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับฟังเสียงของผู้เขียนบรรยายสรุปทุกหน้า (MP3) และสามารถฟังได้ในทุกๆที่ที่ต้องการ

การเรียนรู้ที่แท้จริงคือ การนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Coaching E-Book เล่มนี้ของผู้เขียนจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง อันนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ผลงานหนังสือของผู้เขียน

หนังสือเล่ม: การโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยม

หนังสือการโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานที่ียอดเยี่ยม

E-Book: ทักษะการโค้ชเชิงรุกสำหรับผู้นำ

Cover-Proactive Coaching Skills

ผู้นำ: ยิ่งแบ่งแยก ยิ่งยุ่งหรือเปล่า โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารซึ่งเป็นผู้เข้ารับการอบรม และโค้ชชี่หลายท่าน ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายในการบริหารลูกน้อง Generation แตกต่างกัน สำหรับผู้เขียนแล้ว การแบ่งแยกคนออกเป็น Gen ต่างๆ ทำให้ชีวิตมนุษย์เรายุ่งยากโดยไม่จำเป็น หลักการง่ายๆที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการนำ บริหาร ฝึกอบรม และโค้ชบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างเรื่องอายุ คุณวุฒิ ประสบการณ์ คุณสมบัติ รวมถึงค่านิยม คือ การทำตนเป็น ‘น้ำ’ ค่ะ น้ำคือ ตัวแทนของความลื่นไหล ยืดหยุ่น ปรับตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อม

ลองสังเกตดูนะคะ เมื่อเราเทน้ำลงในแก้ว น้ำย่อมกลายเป็นแก้ว แต่เมื่อเทลงในขวด มันก็กลายเป็นขวด แต่ความเป็น ‘น้ำ’ ไม่ได้หายไป มันยังคงเป็น ‘น้ำ’ เหมือนเดิม เพียงแต่มันปรับตัวไปตามภาชนะที่รองรับมัน

น้ำจะสามารถปรับตัวไปตามภาชนะได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับธรรมชาติดั้งเดิมของมัน ธรรมชาติของน้ำมีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน ทุกท่านคงจำเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ว่าบอานุภาพการทำลายล้างของน้ำสูงเพียงใด ภายใต้ความอ่อนโยน นุ่มนวล มันคือความแข็งแกร่ง ความนุ่มนวลหมายถึง การมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสถานการณ์ต่างๆ สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆอย่างเหมาะสม รู้วิธีการสื่อสารกับคนแต่ละคนซึ่งมีค่านิยม กรอบความคิด และความต้องการแตกต่างกัน แม้ว่าผู้นำหรือโค้ชจะปรับตนได้อย่างลื่นไหลในสถานการณ์ต่างๆ แต่ผู้นำหรือโค้ชเหล่านั้นยังคงมีความแข็งแกร่งในตัว คือสามารถยึดหลักการหรือแนวทางปฏิบัติที่ถูกที่ควรไว้ได้ เพียงแต่พวกเขารู้วิธีนำเสนอ หรือแสดงออกอย่างมีศิลปะ พวกเขาจะรู้ว่าเมื่อใดควรแข็ง เมื่อใดควรอ่อน เมื่อใดควรหยิบองค์ความรู้ หรือเครื่องมือใดมาใช้กับใคร จะเลือกใช้คนอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ และรู้ว่าจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ผู้อื่นให้ความร่วมมือ หรืออุทิศตัวในการทำงานให้เขาด้วยความยินดีเต็มใจ ร่วมแรงร่วมใจ จนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง

water art  color reflection

ผู้นำ ผู้บริหาร หรือโค้ชจึงควรทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการพัฒนาตนเอง เสริมสร้างคุณสมบัติความเป็นผู้นำที่แท้จริง ผู้นำที่แท้จริงคือผู้ที่มีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนโยนผสมผสานอยู่ในตัวคนๆเดียวกันอย่างสมดุล และสามารถนำคุณสมบัติแต่ละด้านมาใช้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ และบุคคลที่ต้องทำงานด้วยไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า เมื่อต้องเผชิญกับบุคคลต่างๆ สิ่งสำคัญคือ อ่านคนให้ออก วางกรอบความคิดหรืออัตตาของตนเองลงเพื่อให้เห็นผู้อื่นได้อย่างชัดเจนและจัดการให้เหมาะสม

ดังนั้น แทนที่จะใช้เวลาในการแบ่งแยกคน แต่ให้ใช้เวลาในการเข้าใจคน และจัดการที่ตนเองก่อน เป็นผู้นำแบบ Inside-Out นะคะ ไม่ใช่ Outside-in เป็นน้ำที่ใสบริสุทธิ์ จนมองเห็นทุกอย่างได้กระจ่างชัด เห็นความเป็นตัวตนของผู้อื่น รับรู้ (Acknowledge) แต่ไม่ตัดสิน และตอบสนองอย่างสอดคล้อง การจะได้ใจคนนั้น ต้องเข้าใจ เข้าถึงคนก่อนนะคะ และผลลัพธ์คงหนีไม่พ้นความสำเร็จที่จะตามมาค่ะ

 

 

โค้ชวิธีคิด ปลดล็อคชีวิต พิชิตผลงาน โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโค้ชเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โค้ชแต่ละท่านใช้กระบวนการและทักษะการโค้ชแตกต่างกัน องค์กรจำนวนไม่น้อยต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการโค้ช และนำการโค้ชมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน โดบเฉพาะการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง รวมทั้ง Talent ขององค์กร

สำหรับผู้เขียน มีประสบการณ์การโค้ชให้แก่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และ Talent หลักการสำคัญที่ผู้เขียนใช้ในการโค้ชคือ การโค้ชที่มุ่งไปที่การพัฒนา ‘วิธีคิด’ ของโค้ชชี่ ช่วยให้สมองของโค้ชชี่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสื่อสารที่ทำให้โค้ชชี่เกิดความไว้วางใจ ผู้เขียนจะนำเสนอตนเองในฐานะกัลยาณมิตร เพื่อนร่วมทาง ผู้ให้กำลังใจ ผู้สนับสนุน มีความเข้าอกเข้าใจให้เสมอ และรับฟังโค้ชชี่โดยไม่ตัดสินตัวตนของโค้ชชี่ ทำใหโค้ชชี่รู้สึกสบายใจ ไว้วางใจที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเปิดกว้าง กล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าที่จะปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาอย่างมั่นใจ ปราศจากความวิตกกังวล ท่ามกลางบรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจ ไว้วางใจ โค้ชชี่จะเกิดการตื่นรู้ เข้าใจความจริงในแง่มุมต่างๆ ค้นพบบางอย่างเกี่ยวกับตนเอง มองโลกในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม ค้นพบเป้าหมาย และวิธีการจัดการกับสถานการณ์หรือวิธีที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นด้วยตนเอง

สรุปแล้ว ในการโค้ช ผู้เขียนจะดำเนินการตามเส้นทางต่อไปนี้

– สอบถามใเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ ระบุ ‘ประเด็นปัญหา’ ให้ได้ อย่าปล่อยให้โค้ชชี่จมอยู่ในทะเลของ ‘รายละเอียด’ นานเกินไป

– จากประเด็นปัญหา ให้หันมาโค้ชวิธีคิด โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับมุมมอง ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกของโค้ชชี่ และบุคคลอื่นหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

– ช่วงที่โค้ชชี่คิด ตอบคำถาม สมองจะเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเกิดความเข้าใจรู้แจ้งความจริง รวมถึงตระหนักในเป้าหมาย และค้นพบทางออกของปัญหาในที่สุด

– นำทางออกหรือวิธีดำเนินการ (Action) ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง พฤติกรรมและผลการปฏิบัติงานจะค่อยๆพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น การโค้ชจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่โค้ชชี่ ‘ประสบการณ์ใหม่’ คือที่มาของ ‘วิธีคิดใหม่’ และ ‘พฤติกรรมใหม่’ อันนำไปสู่ ‘การพัฒนาผลการปฏิบัติงาน’

หนังสือการโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานที่ียอดเยี่ยม

 

 

 

 

 

 

 

 

การโค้ชเพื่อพัฒนาผู้นำ ไม่ทำไม่ได้แล้ว โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

เมื่อพูดถึงผู้นำ ผู้เขียนหมายถึงพนักงานทุกระดับ เพราะความเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องของตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของ ‘การเลือกที่จะเป็น’ ปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่พัฒนาผู้นำโดยใช้วิธีการฝึกอบรม ซี่งได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อย ไม่ใช่เพราะการอบรมนั้นไม่ดี หรือวิทยากรไม่เก่ง แต่การพัฒนาคนให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และพฤติกรรมอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในช่วงเวลาอันสั้น เพราะอุปนิสัยและความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นฝังแน่น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย

การโค้ชจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและทรงพลังอย่างยิ่งที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนาผู้นำควบคู่ไปกับการฝึกอบรม หรือใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือหลักในบางกรณี จากประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านการพัฒนาผู้นำและทักษะการโค้ชให้แก่ผู้บริหารมามากกว่า 2,000 คน และเป็นโค้ชผู้บริหารและ Talent ที่ได้รับการรับรองจาก NeuroLeadership Group สถาบันด้านการโค้ชที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก ผู้เขียนสามารถพูดได้ว่าการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำยังคงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างแน่นอน เพราะเป็นการติดอาวุธความรู้ และเสริมสร้างทักษะ แต่การโค้ชเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความรู้และทักษะนั้นมีชีวิตอยู่ในตัวบุคคลอย่างยาวนาน ยั่งยืน เพราะการโค้ชเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างการตื่นรู้จากภายในตนเอง (Self-Directive Learning) การโค้ชที่กระทำอย่างมีระบบ และต่อเนื่องในช่วงระยะเวลายาวนานเพียงพอจะทำให้เกิดการพัฒนาตามลำดับและต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลการปฏิบัติงานในระดับบุคคล หน่วยงาน และองค์กร

จากประสบการณ์ตรงในการทำหน้าที่โค้ชให้แก่ผู้บริหารและ Talent จำนวนหนึ่ง จำนวน 10 ครั้งขึ้นไป (ครั้งละ 1.5-2 ชั่วโมง)  ผู้เขียนพบว่า การโค้ชช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ผู้รับการโค้ช (โค้ชชี่) และองค์กรที่เป็นลูกค้าของผู้เขียนในหลายๆแง่มุม

ผลที่มีต่อโค้ชชี่:

  • มีพัฒนาการ เติบโตขึ้นทั้งทางด้านความคิด ความรู้ และอารมณ์
  • มีความมั่นใจในตนเอง เคารพตนเองเพิ่มขึ้น
  • กล้าคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น
  • ภาวะผู้นำเพิ่มขึ้น มีความสมดุลในตนเองเพิ่มขึ้น
  • ตระหนักในจุดแข็งและจุดที่ตนต้องพัฒนา
  • มีความสุข ขวัญและกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น
  • มีความรู้สึกมั่นคงขึ้น
  • รับมือกับสถานการณ์ท้าทายต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ผลที่มีต่อองค์กร:

  • มีผู้นำที่มีศักยภาพพร้อมรับผิดชอบงานที่ท้าทายและรองรับการเติบโตขององค์กรมากขึ้น
  • พนักงานมีความรับผิดชอบสูง (Accountability) และรู้สึกเป็นเจ้าของงาน (Sense of Ownership) มากขึ้น
  • ผลการปฏิบัติงานดีขึ้นเนื่องจากพนักงานมีขวัญและกำลังใจ และมีความผูกพันต่อองค์กรเพิ่มขึ้น
  • เกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ อันนำไปสู่การพัฒนาองค์กร

ดังนั้น นอกจากการโค้ชผู้บริหารระดับสูง (Executive Coach) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน ผู้เขียนอยากแนะนำให้องค์กรหันมาให้ความสำคัญและลงทุนในการโค้ชผู้บริหารระดับกลางและระดับต้น รวมถึงพนักงานผู้มีความสามารถพิเศษ หรือ Talent มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้คืออนาคตขององค์กร คือผู้นำทัพหน้า เป็นศักยภาพและขุมพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

รูปแบบการโค้ชผู้นำสำหรับผู้บริหารระดับต้น-กลาง และ Talent สามารถทำได้หลายแนวทาง

  • โปรแกรมการโค้ชตัวต่อตัว (One-on-One Coaching Program)
  • โปรแกรมการโค้ชเป็นกลุ่ม (Small Group Coaching Program)
  • โปรแกรมการโค้ชและการให้คำปรึกษาแนะนำ (Coaching and Mentoring Program)
  • โปรแกรมการโค้ชภายหลังการฝึกอบรม (After Training Coaching Program)

องค์กรจะเลือกใช้การโค้ชรูปแบบใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ความต้องการ ความคาดหวังขององค์กร สถานการณ์ และงบประมาณ

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายให้แก่ผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการพิจารณานำการโค้ชมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้นำควบคู่กับการฝึกอบรม เพื่อทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นยังคงอยู่ และมีการนำไปใช้อย่างเกิดประสิทธิผลสูงสุด หรือใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาผู้นำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กรต่อไป

ท่านใดสนใจสอบถามหรือต้องการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการโค้ชหรือการฝึกอบรมด้านการโค้ชหรือพัฒนาผู้นำ ส่งอีเมล์มาได้ที่ sirirat@bewinning.biz หรือเข้าไปเยี่ยมชมเวปไซด์ http://www.bewinning,biz หรือติดต่อมาที่ โทร. 02-4382830

โค้ชผู้บริหารไม่ให้เครียด โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ชไม่ใช่การสอน การโค้ชคือการปลดปล่อยศักยภาพของโค้ชชี่ เชื่อไหมว่า โค้ชชี่จำนวนไม่น้อยรู้คำตอบที่ตนเองกำลังมองหาอยู่ มันซ่อนอยู่ลึกๆ แต่เมื่อเผชิญปัญหา เหมือนอยู่ในความมืด พวกเขามองไม่เห็นคำตอบ เขาไม่สามารถคิดได้อย่างผู้มีสติและปัญญา ลองดูว่าโค้ชบีทำอย่างไร จึงทำให้ผู้บริหารซึ่งกำลังประสบปัญหาความเครียดท่านนี้ได้เรียนรู้ และค้นพบประตูทางออกจากปัญหา การโค้ชไม่ใช่การสนทนาทางวิชาการ แต่เป็นการเข้าถึงความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

“สวัสดีครับโค้ชบี วันนี้มีประเด็นมาให้โค้ชช่วยอีกแล้ว ช่วงนี้เครียดเหลือเกิน”

“ยินดีค่ะ ลองเล่าให้ฟังสิคะ”

“ช่วงนี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองเครียดเรื่องงาน แล้วไปแสดงอารมณ์กับลูกเมียที่บ้านบ่อยๆ ผมรู้ว่าต้องรีบจัดการแล้วครับ ผมทำให้ลูกเมียผมเบื่อ และบรรยากาศในบ้านเลยแย่กันไปหมด แต่ผมเครียดจริงๆ ไม่รู้จะระบายออกทางไหน”

“คุณท็อปคะ ก่อนอื่น ดิฉันอยากให้คุณท็อปให้เครดิตตัวเองมากๆนะคะ การที่คุณท็อปรู้ตัวว่าความเครียดกำลังส่งผลกับครอบครัวของคุณท็อป และพยายามหาทางจัดการกับมัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแล้วล่ะค่ะ”

“ขอบคุณครับโค้ช โค้ชให้กำลังใจผมเสมอเลย”

“คุณท็อปคะ คุณท็อปคาดหวังอะไรจากการโค้ชครั้งนี้คะ?

“ผมอยากได้วิธีจัดการกับความเครียด หรือทำยังไงไม่ให้เครียดครับ”

“ตกลงคุณท็อปอยากได้วิธีจัดการความเครียด หรือจัดการไม่ให้เครียดนะคะ? มันต่างกัน”

“ผมอยากได้วิธีการที่ทำให้ไม่เครียดกับเรื่องต่างๆที่เข้ามากระทบครับ”

“ชัดเจนมากค่ะ คุณท็อปรู้ตัวไหมคะ คุณท็อปกำลังเดินทางมาใกล้ประตูทางออกแล้ว

“ยังไงครับโค้ช โค้ชให้กำลังใจผมอีกแล้ว”

“คุณท็อปพูดว่าต้องการวิธีที่จะทำให้ไม่เครียดกับเรื่องต่างๆที่มากระทบ หมายความว่า เมื่อมีเรื่องต่างๆมากระทบ คุณท็อปจึงเครียดถูกต้องไหมคะ?

“ครับ ถ้าไม่มีเรื่องมากระทบ ผมคงไม่เครียด”

“ตกลงแล้วเรื่องที่มากระทบทำให้คุณท็อปเครียด ถูกต้องไหมคะ?”

“ครับ”

“แล้วคุณท็อปจะทำยังไงถึงไม่ให้มีเรื่องมากระทบคะ?”

“คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ บางเรื่องเราควบคุมไม่ได้ เช่น วันก่อนขับรถไปจอดไฟแดงอยู่ก็มีคนมาชนท้าย”

“แล้วถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วทำยังไงได้บ้างคะ?”

“ผมคงต้องจัดการกับตนเอง (ยิ้ม) โค้ชทำให้ผมคิดเองได้อีกแล้ว ผมจะไม่ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นมีอิทธิพลต่อผม”

“มาถึงจุดนี้ คุณท็อปเรียนรู้อะไรบ้างคะ?”

“โค้ชบี เอาอีกแล้ว…. ทำให้ผมคิดได้อีกแล้วว่า ถึงแม้เราควบคุมหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่มากระทบเราไม่ได้ หลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่างไม่ได้ แต่เราจัดการตัวเราได้ ควบคุมตัวเราได้”

“เยี่ยมมากค่ะ คุณท็อป”

“แล้วจากการเรียนรู้นี้ คุณท็อปจะทำยังไงคะ?”

“ผมเป็นผู้บริหารแล้ว เมื่อเจอสถานการณ์อะไร คงต้องใช้สติ และค่อยๆตอบสนองจัดการไปตามเหตุผลครับ”

“เยี่ยมมากค่ะ ใช้สติ มองภาพใหญ่ จัดการไปตามเหตุผล มีทางเลือกอื่นอีกบ้างไหมคะ?

“ชาร์ตแบ็ตครับ ผมต้องการการชาร์ตแบ็ต พาลูกเมียไปเที่ยวไกลๆสัก 3 วัน ปล่อยวางเรื่องาน จิตใจน่าจะสงบ พร้อมเริ่มต้นใหม่”

“ดีจังค่ะ แล้วถ้ากลับมามีสิ่งมากระทบอีก จะจัดการอย่างไรคะ?”

“กลับมาที่สติครับ มีสติ ย่อมมีปัญญา”

“ดูเหมือนการมีสติจะเป็นทางออกที่แท้จริงของปัญหา ดิฉันพูดถูกไหมคะ?

“.ใช่เลยครับ ทุกอย่างต้องเริ่มที่สติ ชาร์ตแบ็ตมันเป็นการแก้ปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น”

“แล้วคุณท็อปจะใช้สติยังไงคะ?”

“(หัวเราะ) ให้โค้ชช่วยสอนไงครับ ผมเห็นโค้ชมีสติตลอด อยากให้โค้ชแนะนำผมในเรื่องนี้ อีกอย่างที่ผมคิดว่าจะนำมาปฏิบัติคือการหมั่นทำสมาธิ และตามดูลมหายใจ เพราะผมเคยฝึกอยู่ระยะหนึ่ง แต่หยุดไปเพราะงานมันยุ่งๆ คงต้องกลับมาฝึกใหม่ ผมคิดว่ามันช่วยให้เรารู้ตัวเร็วขึ้น เวลามีอะไรมากระทบ ถึงจะอารมณ์ขึ้นบ้าง แต่ก็ลงเร็ว”

“เรื่องคำแนะนำการฝึกสติ ดิฉันยินดีค่ะ แต่ที่คุณท็อปบอกว่าจะฝึกสมาธิ และเจริญสติตามดูลมหายใจ คุณท็อปจะเริ่มทำเมื่อไรคะ?

“คืนนี้เลยครับ ผมจะกลับไปทำคืนนี้เลย ทำทุกคืนก่อนนอน อาทิตย์แรกผมขอเริ่มจาก 15 นาทีก่อน แล้วค่อยเพิ่มระยะเวลา ผมกลัวกำหนดเวลาไว้นาน ทำไม่ได้แล้วจะท้อครับ”

“ดิฉันสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นในน้ำเสียงคุณท็อปเลยนะคะ และเห็นด้วยค่ะเรื่องนี้ต้องค่อยๆฝึกทำทีละน้อย แต่สม่ำเสมอ ค่อยๆชิมความสำเร็จเล็กๆเป็นระยะก่อน อยู่ตัวแล้วค่อยเพิ่มเวลา”

“ขอบคุณมากครับโค้ช”

“ตอนนี้คุณท็อปรู้สึกอย่างไรบ้างคะ?”

“ดีมากครับ คุยกับโค้ชทีไรกลับไปด้วยความรู้สึกดีๆพร้อมทางออกทุกทีเลย ขอบคุณมากนะครับ”

“ยินดีอย่างยิ่งค่ะ ขอถามอีกหนึ่งคำถามนะคะ คุณท็อปเรียนรู้อะไรจากการสนทนาของเราครั้งนี้บ้างคะ?”

“สิ่งที่ผมเรียนรู้มากที่สุดคือ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่สิ่งเร้าครับ อย่าไปโทษสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ หรือคนอื่น จัดการกับตนเองดีกว่าครับ”

“เยี่ยมมากค่ะ และยินดีที่คุณท็อปได้ทางออกพร้อมการเรียนรู้ใหม่กลับไปค่ะ”

“ขอบคุณอีกครั้งครับโค้ช แล้วเรื่องคำแนะนำล่ะครับ โค้ชพอจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวการฝึกสติให้ผมได้ไหมครับ ผมอยากทำได้อย่างโค้ชบ้าง โค้ชนิ่งมากๆเลย”

“ได้เลยค่ะ คุณท็อปลองนำ Action ที่คิดขึ้นมาได้ไปใช้ก่อนว่าผลเป็นอย่างไร แล้วสัปดาห์หน้า ดิฉันจะมาแชร์วิธีของดิฉันให้ฟังค่ะ ข้อมูลเยอะไปเดี๋ยวคุณท็อปมึนค่ะ”

“ได้เลยครับ โค้ช อาทิตย์หน้าพบกัน เวลาเดิมครับ”

 

การโค้ชโดยใช้ปัญญาญาณ (Intuition Coaching) โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การทำงานของจิตใจมนุษย์นั้นน่าอัศจรรย์ยิ่ง แต่มนุษย์น้อยคนนักที่จะเข้าใจและเห็นคุณค่าของการใช้จิตทำงาน โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์มักตัดสินใจและลงมือทำสิ่งต่างๆโดยใช้ความคิด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความรู้ ความคิดเห็น และการตีความส่วนบุคคล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นตัวตนหรืออัตตาที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน

โค้ชก็เช่นกัน โค้ชแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยมแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้หลอมรวมเป็น ‘กรอบความคิด’ (Paradigm) หรือ ‘วิธีที่แต่ละคนมองโลก'(The way we see the world) เมื่อโค้ชรับฟังปัญหาของโค้ชชี่ โค้ชย่อมใช้กรอบความคิดส่วนบุคคลในการตีความสิ่งที่ตนได้ยิน และรัับรู้บนพื้นฐานกรอบความคิดของตนเอง ซึ่งอาจไม่ใช่ความเป็นจริง (Realities) ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในชีวิตของโค้ชชี่ ซึ่งรวมถึงกรอบความคิด ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการที่แท้จริงของโค้ชชี่

ผลที่ตามมาคือโค้ชอาจใช้กรอบความคิดของตนชี้นำ (Manipulate) ทำให้โค้ชชี่เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในที่นี้คือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อมเฉพาะตนของโค้ชชี่ เมื่อเริ่มต้นที่ความเข้าใจผิด วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาย่อมไม่อาจถูกต้องไปได้

การใช้ปัญญาญาณ (Intuition) ในการโค้ชจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ผู้เขียนประสงค์ที่จะแนะนำให้โค้ชเรียนรู้และฝึกฝน ปัญญาญาณมักเกิดขึ้นในสภาวะจิตที่ว่างเปล่า ปราศจากความคิดปรุงแต่งใดๆ อย่าลืมว่าความคิดมีรากฐานมาจากอัตตา การปราศจากความคิดปรุงแต่งเท่ากับการปราศจากอัตตาหรือความเป็นตัวตน ซึ่งแสดงออกในรูปความเชื่อของตน ความคิดเห็นของตน ทิษฐิของตน เมื่อไม่มีความเป็นตัวตน จิตที่ว่างเปล่าเป็นอิสระจะทำงานด้วยตัวของมันเอง ทำให้เกิดความเข้าใจรู้แจ้ง (Insight) ซึ่งเป็นความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่เกิดขึ้นภายในตัวของบุคคลนั้นเอง เหมือนแสงสว่างวาบที่เกิดขึ้นในใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาวะแห่งการตื่นรู้ อันนำทางมาสู่การแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์ ไม่มีกรอบความคิดใดมาจำกัด ขวางกั้น และอยู่บนรากฐานของสติสัปชัญญะ คือรู้ตัว และรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ควรทำในสถานการณ์ สภาวะ และสภาพแวดล้อมต่างๆอย่างแท้จริง

แสงสว่างบนความว่าง

ผู้เขียนใช้ปัญญาญาณในการโค้ช โดยดำเเนินการ ดังต่อไปนี้

ก่อนเริ่มการโค้ช
– ปล่อยวางความคิดปรุงแต่ง ซึ่งรวมถึง ความคิด อารมณ์ปรุงแต่งต่างๆที่เกิดขึ้นภายในใจ เพื่อให้จิตว่าง และสามารถอยู่กับปัจจุบันได้เต็มที่
ระหว่างการโค้ช
– รักษาสภาวะจิตว่าง ยังคงปราศจากความคิดปรุงแต่ง ปราศจากอัตตาหรือความเป็นตัวตน เพื่อให้สามารถเข้าถึงตัวตนของโค้ชชี่ และช่วยโค้ชชี่ให้เข้าใจตนเอง และประเด็นที่เป็นรากฐานของปัญหาอย่างแท้จริง
– มีสมาธิ เมื่อไม่มีความเป็นตัวตน ร่างกายกับจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกับการโค้ชโดยสิ้นเชิง โค้ชจะฟังโค้ชชี่อย่างลึกซึ้ง ปราศจากการตัดสินใดๆ ทำให้เข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก กรอบความคิด ความต้องการ อัตตา ค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังคำพูด อันเป็นต้นตอของปัญหาหรือความท้าทายที่โค้ชชี่กำลังเผชิญอยู่
– หากระหว่างการโค้ช ในจิตของผู้เขียนเกิดความคิดปรุงแต่งใดๆ เช่น อคติ หรือเริ่มตัดสินโค้ชชี่ การฝึกฝนจิต และการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของโค้ชชี่เป็นสำคัญจะช่วยให้ผู้เขียนตระหนักรู้ตัวอย่างรวดเร็ว และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน คืนสู่สภาวะจิตที่ไร้การปรุงแต่งทางความคิด ไม่ตัดสินโค้ชชี่ แต่กลับเข้าอกเข้าใจ และดำเนินการโค้ชต่อไปได้อย่างมีประสิทธิผล

โดยทั่วไป จิตมนุษย์ไม่นิ่ง แต่จะไหลไปตามสภาวะอันเป็นผลจากการกระทบของสิ่งเร้าต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว รวมถึงสิ่งที่กระทบอยู่ภายในใจตนเอง แต่จิตที่ได้รับการฝึกฝนจะนิ่งขึ้น ไมไหลไปตามสิ่งเร้า มีพลัง และก่อให้เกิดปัญญาญาณที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆโดยอัตโนมัติโดยไม่ผ่านกระบวนการคิด การฝึกฝนจิตจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำทุกวัน ทุกเวลา

สำหรับผู้เขียนใช้วิธีง่ายๆที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและจริตของตน วิธีการฝึกฝนของผู้เขียนมีดังต่อไปนี้

– ระมัดระวังไม่ให้เกิดความคิดปรุงแต่งใดๆในทุกขณะจิต ถ้าเกิดก็รู้ตัว และปล่อยให้ดับลงโดยเร็ว
– การมีสติรู้ตัวตลอดเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ
– การทำสมาธิ
– การติดตามดูจิตของตน
– การใช้ความท้าทายต่างๆที่เผชิญในชีวิตเป้นแบบทดสอบในการฝึกจิต
– เมื่อเกิดการกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงภายในจิต ผู้เขียนจะระบุสภาวะจิตและประเภทของการกระทบที่เกิดขึ้นนั้น
– ระมัดระวังสิ่งเร้าบางประเภทที่อาจส่งผลให้จิตใจไหลไป จนกลายเป็นความเคยชิน ควบคุมได้ยาก เช่น การลดการชมภาพยนตร์บางประเภท ลดการพูด การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆลง เพราะคำพูดส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์มักมีรากฐานอัตตา หรือกรอบความคิดส่วนตน

ผู้เขียนยังคงใช้่ความเพียรในการฝึกฝนจิตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เขียนเล็งเห็นถึงความจำเป็นและตระหนักในคุณค่าของจิตที่ว่างเปล่า และปัญญาญาณที่เกิดขึ้นในการโค้ช โค้ชที่ใช้ปัญญาญาณจะโค้ชได้อย่างลื่นไหลราวกับกำลังเต้นรำไปตามจังหวะของโค้ชชี่ กลมกลืนไปกับโค้ชชี่ แต่มีพลังที่ทำให้เข้าถึงตัวตนของโค้ชชี่อย่างลึกซึ้งเช่นกัน โค้ชผู้ใช้ปัญญาญาณจะช่วยโค้ชชี่ให้เกิดความเข้าใจภายในตนเอง และแสวงหาทางออกที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตนอย่างแท้จริง ปัญญาญาณคือแสงสว่างไสวในใจโค้ช ทำให้โค้ชรู้ว่าต้องตอบสนองต่อโค้ชชี่ในรูปแบบต่างๆอย่างไร เช่น ควรถาม ฟัง สร้างความกระจ่างแจ้ง (Clarify) แสดงความเข้าอกเข้าใจ กระตุ้น ให้กำลังใจเมื่อใด และอย่างไร และแสงสว่างในใจโค้ชจะช่วยจุดประกายนำทางโค้ชชี่ไปสู่แสงสว่างในใจตนเองเช่นกัน

กล่องของขวัญของโค้ชชี่ โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

ใกล้สิ้นปี 2556 ผู้เขียนปิดการโค้ชลูกค้าไปสองราย เพราะจบโปรแกรมพอดี พร้อมได้รับคำชมจากผู้บริหารและโค้ชชี่ที่ยอมรับว่าได้รับประโยชน์อย่างล้ำค่าจากการโค้ช ผู้เขียนรู้สึกยินดีอย่างเงียบๆ และขอยกเครดิตส่วนหนึ่งให้แก่โค้ชชี่ผู้มีจิตใจเปิดกว้าง และกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง ทัศนคติเช่นนี้คือใบเบิกทางที่ทำให้พวกเขาก้าวหน้า และได้รับประโยชน์อย่างสูงจากการโค้ช

การได้เกิดและมีชีวิตเหมือนกับได้รับของขวัญล้ำค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีโอกาสได้รับบทเรียน และเรียนรู้ควบคู่กันไป มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์และความสามารถพิเศษติดตัวมาเพื่อรอเวลาที่จะได้รับการปลดปล่อย แต่เพราะเหตุปัจจัยต่างๆทำให้มนุษย์ไม่สามารถปลดล็อคแม่กุญแจดอกใหญ่ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการใช้พรสวรรค์ และความสามารถพิเศษ รวมถึงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ณ จุดนี้ โค้ชจึงก้าวเข้ามาในชีวิตของโค้ชชี่ การเดินทางเพื่อปลดล็อคศักยภาพจึงเริ่มขึ้น
Gift

โค้ชจะช่วยโค้ชชี่อย่างไร โค้ชจะช่วยให้โค้ชชี่เกิดความตระหนักรู้ และเข้าใจประเด็นปัญหาที่แท้จริงทั้งในแง่ของข้อเท็จจริง และความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจเท่านั้นคือจุดเริ่มต้นของการเติบโต และพัฒนา เหมือนการจุดไฟในใจโค้ชชี่ให้มีแสงสว่าง เกิดความกระจ่างแจ้งกลางใจ โค้ชไม่ได้ใช้การบอก การสอน การแนะนำ แต่โค้ชจะถามให้คิด จะฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อให้เข้าถึงตัวตนของโค้ชชี่ โดยไม่ใช้กรอบความคิดของตนมาตัดสินโค้ชชี่ แสงสว่างในใจจะนำทางโค้ชชี่ไปสู่การค้นพบทางออกของปัญหา ตระหนักในเป้าหมาย และก้าวเดินต่อไปพร้อมความเป็นอิสระ กำลังใจ และความหวัง

ในที่สุด โค้ชชี่ก็ได้เปิดกล่องของขวัญของตนเอง ด้วยตนเอง โค้ชไม่ใช่คนเปิดให้ โค้ชเพียงทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่สุด ตลอดการเดินทางอันท้าทายของโค้ชชี่ โค้ชช่วยกระตุ้นความคิด เข้าถึงจิตใจ ให้การสนับสนุน เป็นกำลังส่งเสริมให้โค้ชชี่สามารถเอาชนะความท้าทาย และประสบความสำเร็จ

แม้การเดินทางร่วมกันระหว่างโค้ชกับโค้ชชี่จะสิ้นสุดลง โค้ชชี่อาจต้องเดินทางต่อโดยลำพัง แต่โค้ชชี่ไม่เคยโดดเดี่ยว เพราะมีปัญญาเป็นอาวุธ ของขวัญยังคงอยู่ ขอเพียงโค้ชชี่โอบกอดของขวัญ พรสวรรค์ ความสามารถพิเศษ ศักยภาพที่มี ไม่ปล่อยให้กับดักทางความคิดใดๆมาจำกัดการใช้ศักยภาพนั้น ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โค้ชชี่ย่อมผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ผู้เขียนในฐานะโค้ชยังคงเป็นกำลังใจให้โค้ชชี่ทุกท่าน มิตรภาพของเราได้พัฒนาขึ้นแล้ว และพร้อมเสมอที่จะเป็นที่ปรึกษาและโค้ชที่ดีให้ในยามที่พวกเขาต้องการ