Monthly Archives: ตุลาคม 2013

การสนทนาการโค้ชเพื่อพัฒนาวิทยากร โดย โค้ชศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ชเชิงรุก: การโค้ชวิถึพุทธที่เป็นสากล โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

การโค้ชเป็นกระแสที่มาแรงอย่างฉุดไม่อยู่ในแวดวงพัฒนาบุคลากร ผู้เขียนในฐานะโค้ชและวิทยากรด้านการโค้ชให้แก่ผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ได้พัฒนาและตกผลึกตัวแบบการโค้ชชื่อว่า ‘Proactive Coaching Model’ (ตัวแบบการโค้ชเชิงรุก) ที่ช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมที่ต้องการพัฒนาทักษะการโค้ชสามารถเข้าถึงแนวความคิด กระบวนการ และทักษะการโค้ชได้ง่ายขึ้น

Proactive หมายถึง การก้าวไปข้างหน้า รุกไปข้างหน้า การโค้ชคือกระบวนการและทักษะการสื่อสารที่ช่วยให้โค้ชชี่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แข็งแกร่ง บนรากฐานของการเติบโต และเรียนรู้ จะเกิดอะไรขึ้น หากเรามุ่งแต่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ให้เวลาในการหยุดทบทวนตนเอง หรือทำความเข้าใจจุดปัจจุบันที่เรายืนอยู่ ว่าเราอยู่ที่ไหน และจะก้าวไปที่จุดใด เท่ากับว่าเรากำลังนำพาตนเองเดินต่อไปโดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจ ไร้เป้าหมาย และทิศทาง การก้าวไปข้างหน้าโดยปราศจากความเข้าใจหรือเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น หรือทำความเข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบันอาจทำให้เราก้าวลงสู่หุบเหว หรือเดินต่อไปเข้ารกเข้าพง หรือประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เพราะเป็นการก้าวต่อไปอย่างปราศจากอาวุธคู่กาย คือ ‘ปัญญา’ (Wisdom) หรือ ‘ความรู้แจ้งเห็นจริง’ (Enlightenment)

Proactive Coaching Model จึงได้รับการพัฒนาต่อยอดจากความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการเป็นโค้ช และวิทยากรฝึกอบรมด้านการโค้ชของผู้เขียน ผู้เขียนพัฒนาโมเดลนี้ขึ้นด้วยการตกผลึกจากความรู้ที่ผู้เขียนได้รับตามแนวทางของการโค้ชบนพื้นฐานความเข้าใจสมองมนุษย์ (Brain-Based Coaching และการโค้ชตามแนวทาง ‘อริยสัจสี่’ ที่ผู้เขียนใช้ในการฝึกอบรมมาเป็นเวลาหลายปี แนวคิดหลักของ Model นี้ คือการช่วยให้โค้ชชี่สามารถก้าวพ้นจากอดีต เพื่อเดินทางต่อไปข้างหน้าพร้อมวิธีการจัดการกับปัญหา (Developed Actions) บนพื้นฐานของการตระหนักรู้ตนเอง (Self-Awareness) ความเข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบัน (Understanding of Current Realities) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ผ่านการใช้ทักษะการสอบถามที่ทรงพลัง (Powerful Questioning) การฟังอย่างลึกซึ้ง (Profound Listening) และการสร้างความกระจ่างแจ้ง (Clarifying)

การช่วยโค้ชชี่ให้เกิดความเข้าใจความจริงในปัจจุบัน โค้ชจะกระตุ้นโดยใช้คำถามที่ทำให้โค้ชชี่สำรวจความคิด (Head-Thinking) ความรู้สึก (Heart-Feeling) ของตนเอง มากกว่าจะมุ่งเน้นไปที่รายละเอียดของสถานการณ์ (Hand-Situation) เพราะที่มาที่แท้จริงของปัญหา หรือพฤติกรรมของมนุษย์มาจากความคิด ความรู้สึก ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือสิ่งเร้า แต่เป็นการตอบสนองของเราที่มีต่อสิ่งเร้านั้นต่างหาก แต่คนส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่สิ่งเร้า ทำให้หลงทาง อย่างไรก็ตาม โค้ชยังจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามเพื่อสอบถามถึงสถานการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นพอให้เข้าใจ ‘ประเด็นที่แท้จริง’ (Real Issue) โดยที่ไม่ดึงโค้ชชี่ให้จมลึกลงไปในอดีตด้วยการพยายามสีบสวนหรือเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่โค้ชพึงระลึกถึงเสมอคือ ‘โค้ชไม่ใช่ที่ปรึกษา’ ที่ปรึกษามีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง ต้องศึกษาอดีต เพื่อที่จะได้สามารถนำเสนอทางเลือกหรือวิธีการแก้ปัญหาที่สอดคล้อง แต่โค้ชมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้โค้ชชี่หลุดพ้นจากปัญหาหรือค้นพบวิธีการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆโดยเร็ว ค้นพบ เติบโต และก้าวต่อไปโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่เจ็บป่วดในการศึกษาอดีต มนุษย์เราสามารถเข้าใจอดีตได้โดยการศึกษาเพื่อให้เข้าใจปัจจุบันได้เช่นกัน แต่เป็นการทำความเข้าใจในแง่มุมของความคิด ความรู้สึก ทั้งของตนเอง และผู้อื่น รวมถึงแง่มุมต่างๆที่เกี่ยวข้องในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ ‘อนาคต’ ที่ดีกว่า บนพื้นฐานของความเข้าใจ การเรียนรู้ เป้าหมาย และการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัดในการนำพาตนเองไปสู่การบรรลุเป้าหมาย หรือเอาชนะความท้าทายต่างๆได้อย่างประสบความสำเร็จ

ทักษะการถามที่ทรงพลัง การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสร้างความกระจ่างแจ้งจะถูกนำมาใช้ในขั้นตอนต่างๆของกระบวนการโค้ชตามแนวทาง Proactive Coaching Model ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับหลักคำสอนเรื่อง ‘อริยสัจ 4’ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1: อดีต (ทุกข์)
ทำความเข้าใจประเด็นที่แท้จริง (Issue) ในการโค้ช
ขั้นตอนที่ 2: ปัจจุบัน (สมุทัย)
ทำความเข้าใจความจริงในปัจจุบัน (Understand Current Realities) พร้อมกำหนดเป้าหมาย
(Define Goal) ที่ต้องการบรรลุ
ขั้นตอนที่ 3: อนาคต (นิโรธ มรรค)
สำรวจทางเลือก (Explore Alternatives) และระบุวิธีดำเนินการ (Identify Actions)
การการเพื่อจัดการกับประเด็นปัญหา หรือทำให้เป้าหมายเป็นจริง

สรุปแล้ว Proactive Coaching Model เป็นตัวแบบที่แสดงถึงกระบวนการในการโค้ชที่ช่วยนำทางโค้ชชี่ออกจากอดีต (ความทุกข์) ไปสู่ปัจจุบัน (ปัญญาในการมองเห็นความจริงอย่างกระจ่างชัด) และอนาคต (ทางออกของปัญหา) ซึ่งสอดคล้องกับหลักคำสอนอริยสัจสี่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพียงแต่การตีความหมายของคำว่า สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์เท่านั้นที่มนุษย์มักตีความว่าเหตุแห่งทุกข์คือสิ่งเร้า สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ ทั้งๆที่จริงแล้ว เหตุแห่งทุกข์คือ ความคิด และจิตใจ ซึ่งรวมถึงมุมมอง อารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์เรานั่นเอง