การโค้ชเพื่อพัฒนาผู้นำ ไม่ทำไม่ได้แล้ว โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ

เมื่อพูดถึงผู้นำ ผู้เขียนหมายถึงพนักงานทุกระดับ เพราะความเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องของตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของ ‘การเลือกที่จะเป็น’ ปัจจุบัน องค์กรส่วนใหญ่พัฒนาผู้นำโดยใช้วิธีการฝึกอบรม ซี่งได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อย ไม่ใช่เพราะการอบรมนั้นไม่ดี หรือวิทยากรไม่เก่ง แต่การพัฒนาคนให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และพฤติกรรมอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในช่วงเวลาอันสั้น เพราะอุปนิสัยและความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นฝังแน่น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย

การโค้ชจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและทรงพลังอย่างยิ่งที่ควรนำมาใช้ในการพัฒนาผู้นำควบคู่ไปกับการฝึกอบรม หรือใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือหลักในบางกรณี จากประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านการพัฒนาผู้นำและทักษะการโค้ชให้แก่ผู้บริหารมามากกว่า 2,000 คน และเป็นโค้ชผู้บริหารและ Talent ที่ได้รับการรับรองจาก NeuroLeadership Group สถาบันด้านการโค้ชที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก ผู้เขียนสามารถพูดได้ว่าการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำยังคงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างแน่นอน เพราะเป็นการติดอาวุธความรู้ และเสริมสร้างทักษะ แต่การโค้ชเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความรู้และทักษะนั้นมีชีวิตอยู่ในตัวบุคคลอย่างยาวนาน ยั่งยืน เพราะการโค้ชเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างการตื่นรู้จากภายในตนเอง (Self-Directive Learning) การโค้ชที่กระทำอย่างมีระบบ และต่อเนื่องในช่วงระยะเวลายาวนานเพียงพอจะทำให้เกิดการพัฒนาตามลำดับและต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลการปฏิบัติงานในระดับบุคคล หน่วยงาน และองค์กร

จากประสบการณ์ตรงในการทำหน้าที่โค้ชให้แก่ผู้บริหารและ Talent จำนวนหนึ่ง จำนวน 10 ครั้งขึ้นไป (ครั้งละ 1.5-2 ชั่วโมง)  ผู้เขียนพบว่า การโค้ชช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ผู้รับการโค้ช (โค้ชชี่) และองค์กรที่เป็นลูกค้าของผู้เขียนในหลายๆแง่มุม

ผลที่มีต่อโค้ชชี่:

  • มีพัฒนาการ เติบโตขึ้นทั้งทางด้านความคิด ความรู้ และอารมณ์
  • มีความมั่นใจในตนเอง เคารพตนเองเพิ่มขึ้น
  • กล้าคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น
  • ภาวะผู้นำเพิ่มขึ้น มีความสมดุลในตนเองเพิ่มขึ้น
  • ตระหนักในจุดแข็งและจุดที่ตนต้องพัฒนา
  • มีความสุข ขวัญและกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น
  • มีความรู้สึกมั่นคงขึ้น
  • รับมือกับสถานการณ์ท้าทายต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ผลที่มีต่อองค์กร:

  • มีผู้นำที่มีศักยภาพพร้อมรับผิดชอบงานที่ท้าทายและรองรับการเติบโตขององค์กรมากขึ้น
  • พนักงานมีความรับผิดชอบสูง (Accountability) และรู้สึกเป็นเจ้าของงาน (Sense of Ownership) มากขึ้น
  • ผลการปฏิบัติงานดีขึ้นเนื่องจากพนักงานมีขวัญและกำลังใจ และมีความผูกพันต่อองค์กรเพิ่มขึ้น
  • เกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ อันนำไปสู่การพัฒนาองค์กร

ดังนั้น นอกจากการโค้ชผู้บริหารระดับสูง (Executive Coach) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน ผู้เขียนอยากแนะนำให้องค์กรหันมาให้ความสำคัญและลงทุนในการโค้ชผู้บริหารระดับกลางและระดับต้น รวมถึงพนักงานผู้มีความสามารถพิเศษ หรือ Talent มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้คืออนาคตขององค์กร คือผู้นำทัพหน้า เป็นศักยภาพและขุมพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

รูปแบบการโค้ชผู้นำสำหรับผู้บริหารระดับต้น-กลาง และ Talent สามารถทำได้หลายแนวทาง

  • โปรแกรมการโค้ชตัวต่อตัว (One-on-One Coaching Program)
  • โปรแกรมการโค้ชเป็นกลุ่ม (Small Group Coaching Program)
  • โปรแกรมการโค้ชและการให้คำปรึกษาแนะนำ (Coaching and Mentoring Program)
  • โปรแกรมการโค้ชภายหลังการฝึกอบรม (After Training Coaching Program)

องค์กรจะเลือกใช้การโค้ชรูปแบบใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ความต้องการ ความคาดหวังขององค์กร สถานการณ์ และงบประมาณ

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายให้แก่ผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการพิจารณานำการโค้ชมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้นำควบคู่กับการฝึกอบรม เพื่อทำให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นยังคงอยู่ และมีการนำไปใช้อย่างเกิดประสิทธิผลสูงสุด หรือใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาผู้นำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กรต่อไป

ท่านใดสนใจสอบถามหรือต้องการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการโค้ชหรือการฝึกอบรมด้านการโค้ชหรือพัฒนาผู้นำ ส่งอีเมล์มาได้ที่ sirirat@bewinning.biz หรือเข้าไปเยี่ยมชมเวปไซด์ http://www.bewinning,biz หรือติดต่อมาที่ โทร. 02-4382830

Post a comment or leave a trackback: Trackback URL.

ใส่ความเห็น