What is Coaching?

มีข้อโต้เถึยงกันอย่างมากมายในวงการโค้ช ที่ปรึกษา วิทยากรของไทย เกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของการโค้ช (Coaching) ส่วนใหญ่การโต้เถึยงนั้นมีที่มาจากความคิด ความเชื่อ ค่านิยมส่วนบุคคล ลูกค้าเองก็ไม่เข้าใจว่าการโค้ชคืออะไร บางคนเข้าใจว่าเป็นการสอนงาน เพราะนักแปลทั้งหลาย แปลไว้เช่นนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดมากขึ้น เมื่อใดก็ตามที่เรานำแก่นแท้ของการโค้ชมาพิจารณา มากกว่ายึดตัวบุคคล เมื่อนั้น การให้นิยามการโค้ชย่อมมีความถูกต้อง สอดคล้องกับหลักการมากขึ้น

การโค้ชทางธุรกิจนั้นแตกต่างจากการสอนงานแบบ (On-the-Job Training) และแตกต่างจากการโค้ชกีฬา (Sport Coach) หรือ การโค้ชการใช้เสียง (Voice Coach) อย่างมาก แม้ว่าจะมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนา และปลดปล่อยศักยภาพคน แต่วิธีการนั้นแตกต่างกันอย่างมาก โค้ชกีฬา และโค้ชเสียงสามารถให้คำแนะนำได้ทันที เช่น ในสนามการแข่งขัน โค้ชกีฬาคงไม่สามารถมานั่งตั้งคำถามเพื่อโค้ชนักกีฬา โค้ชกีฬาจึงมีความจำเป็นต้องให้คำแนะนำในสถาณการณ์นั้น ขณะที่โค้ชทางธุรกิจ หรือโค้ชผลการปฏิบัติงาน จะนั่งคุยหรือโทรคุยกับโค้ชชี่ภายใต้บรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ และแสวงหาทางออกร่วมกัน

ประเด็นสำคัญคือคำว่า ‘สถานการณ์’ ไม่ใช่เราจะใช้การโค้ชได้ในทุกๆสถานการณ์ ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างาน ล้วนมีบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบที่หลากหลาย เป็นทั้งผู้นำ และผู้บริหาร การตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น ถ้าสถานการณวิกฤติ ไฟไหม้ห้องเก็บของ ผู้จัดการย่อมไม่อาจมานั่งโค้ชลูกน้อง ผู้จัดการต้องเข้าควบคุมสั่งการทันที

ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ใช่สถานการณ์เร่งด่วน หรือฉุกเฉินจริง เช่น พนักงานทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ผู้จัดการสามารถทำการโค้ชได้ อาจผ่านรูปแบบของการให้ Feedback ที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเต็มใจที่จะปรับปรุงผลพฤติกรรม และผลการปฏิบัติงาน

การโค้ชจึงเป็นเครื่องมือ และกระบวนการที่ผู้บริหารใช้ในการสื่อสารเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาผลการปฏิับัติงานของบุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลนั้นปลดปล่อยศักยภาพสูงสุดออกมา ผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน ไม่จำเป็นต้องรอให้เกืดปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นก่อนค่อยทำการโค้ช เช่น กรณีผู้ใต้บังคับบัญชาท่านหนึ่งได้รับมอบหมายโครงการใหม่ ท่า่นจึงทำการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาท่านนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมของเขาสำหรับการรับผิดชอบงานที่ท้าทาย

ดังนั้น การโค้ชภายในองค์กร สามารถเรียกได้ว่าเป็น การโค้ชเพื่อบริหารผลการปฏิบัติงาน หรือ Performance Coaching ซึ่งสามารถทำได้ใน 3 ลักษณะคือ

1. การโค้ชเพื่อปรับปรุงผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามความคาดหวัง หรือเป้าหมายขององค์กร ผ่านกระบวนการในการให้ Feedback

2. การโค้ชเพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงาน หรือขยายขีดความสามารถของพนักงาน

3. การโค้ชเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมและผลการปฏิบัติงานเชิงบวก โดยผ่านการแสดงความชื่นชม

หลักการ แนวทาง หรือวิธีการโค้ชในสถานการณ์ต่างๆ ทำอย่างไร เชิญติดตามตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้ค่ะ

Post a comment or leave a trackback: Trackback URL.

Trackbacks

ใส่ความเห็น